Sźechenyi, Istvan, Count (1791-1860)

เคานต์อิชต์วาน เซเชนยี (พ.ศ. ๒๓๓๔-๒๔๐๓)

 เคานต์อิชต์วาน เซเชนยีเป็นนักเขียน นักการเมือง และนักปฏิรูปคนสำคัญของฮังการี เป็นประธานคณะกรรมาธิการการคมนาคมขนส่งแห่งชาติ (National Transport Committee) ระหว่าง ค.ศ. ๑๘๔๕-๑๘๔๘ หลังการปฏิวัติ ค.ศ. ๑๘๔๘ (Revolutions of 1848)* เซเชนยีดำรงตำแหน่งเสนาบดีกระทรวงคมนาคม (Minister of Transportation and Public Works) ซึ่งเป็นตำแหน่งที่รัฐบาลฮังการีเพิ่งจัดตั้งขึ้นใหม่ แม้เซเชนยีจะดำรงตำแหน่งเพียงช่วงเวลาสั้น ๆ ระหว่างเดือนเมษายนถึงกันยายน ค.ศ. ๑๘๔๘ แต่เขาก็มีบทบาทสำคัญในการดำเนินการโครงการพัฒนาเส้นทางรถไฟและถนนเพื่อเชื่อมพื้นที่ส่วนต่าง ๆ ของประเทศเข้าด้วยกัน และผลักดันการเปิดแม่นํ้าดานูบ (Danube) เป็นเส้นทางสัญจรไปออกทะเลดำ รวมทั้งการสร้างสะพานแขวนแห่งแรกในกรุงบูดาเปสต์ (Budapest) เซเชนยีมีความคิดเห็นขัดแย้งกับลายอช คอชุท (Lajos Kossuth)* เสนาบดีกระทรวงการคลังเกี่ยวกับการแยกตัวเป็นอิสระจากออสเตรียของฮังการีเพราะเชาสนับสนุนแนวทางการแยกตัวอย่างค่อยเป็นค่อยไปและประนีประนอมกับออสเตรีย ในขณะที่คอชุทต้องการแยกตัวออกอย่างเด็ดขาดด้วยการทำสงครามล้มล้างอำนาจของราชวงศ์ฮับส์บูร์ก (Habsburg)* เมื่อออสเตรียส่งกำลังทหารเข้าปราบปรามฮังการี เซเชนยีซึ่งผูกพันกับออสเตรียจึงเกิดความเครียดทางอารมณ์ และลาออกจากตำแหน่งเสนาบดีเมื่อวันที่ ๕ กันยายน ค.ศ. ๑๘๔๘ ต่อมาก็ได้เดินทางไปรักษาตัวที่สถานพยาบาลฟื้นฟูโรคจิตที่เมืองเดอบลิง (Döbling) ใกล้กรุงเวียนนา

 เซเชนยีเกิดในตระกูลขุนนางเก่าแก่ที่มั่งคั่ง เมื่อวันที่ ๒๑ กันยายน ค.ศ. ๑๗๙๑ ที่กรุงเวียนนา เคานต์เฟอเรนซ์ เซเชนยี (Ferenc Sźechenyi) บิดาเป็นขุนนางฮังการีที่โดดเด่นในราชสำนักเวียนนาและสืบสายจากตระกูลขุนนางที่จงรักภักดีต่อราชวงศ์ฮับส์บูร์ก ตระกูลเซเชนยีมีความใกล้ชิดกับตระกูลขุนนางเก่าชั้นสูงของยุโรปและฮังการีหลายตระกูล เช่น ตระกูลลิชเทนชไตน์ (Liechtenstein) ตระกูลเอสเทอร์ฮาซี (Esterhazy) ตระกูลล็อบคอวิตซ์ (Lobkowitz) เคานต์เฟอเรนซ์จึงมีอิทธิพลทางการเมืองมากและมีบทบาทสำคัญในสังคมฮังการี เขาเป็นผู้ผลักดันการก่อตั้งหอสมุดแห่งชาติเซเชนยี (National Sźechenyi Library) และพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติฮังการี (Hungarian National Museum) ส่วนเคาน์เตสจูเลีย เฟสเตติช (Julia Festetich) มารดาเป็นสตรีชั้นสูงที่ทรงเสน่ห์และเฉิดฉายในสังคมเธอเอาใส่ใจดูแลลูก ๆ ทุกคนให้มีระเบียบวินัยและรักการอ่านหนังสือ เซเชนยีเป็นบุตรคนสุดท้องและมีพี่ชาย ๓ คน พี่สาว ๒ คน เขาจึงเป็นที่รักของทุกคนในครอบครัว ในวัยเยาว์เขาใช้ชีวิตทั้งที่กรุงเวียนนาและที่คฤหาสน์ของครอบครัว ณ เมืองนอจเซงค์ (Nagycenk) ในฮังการีและมีครูส่วนตัวมาสอนที่บ้าน เซเชนยีพูดและนิยมเขียนภาษาเยอรมันมากกว่าภาษาฮังการีและในสมุดบันทึกส่วนตัวเขาก็เขียนเป็นภาษาเยอรมันโดยตลอด

 ใน ค.ศ. ๑๘๐๘ เซเชนยีในวัย ๑๗ ปีเข้าประจำการในกองทหารออสเตรียเหมือนพี่ชายทั้ง ๒ คน และในปีต่อมาก็เข้าร่วมรบในสงครามนโปเลียน (Napoleonic Wars ค.ศ. ๑๘๐๔-๑๘๑๕)* เขาสู้รบอย่างกล้าหาญในยุทธการที่เมืองราบ (Battle of Raab) ในเดือนมิถุนายน ค.ศ. ๑๘๐๙ และความเข้มแข็งเด็ดเดี่ยวในการรบทำให้ได้รับหน้าที่เดินสารข้ามแม่นํ้าดาบูบเพื่อส่งข่าวเกี่ยวกับยุทธศาสตร์การรบให้กองทัพออสเตรียซึ่งอยู่อีกฟากหนึ่งของแม่นํ้า ความสำเร็จที่ได้รับทำให้ในเวลาต่อมาเขาได้รับมอบหมายให้ทำหน้าที่เดินสารระหว่างกองทัพอีกครั้งหนึ่ง เซเชนยีเสี่ยงชีวิตฝ่าเข้าไปแนวยึดครองของศัตรูเพื่อส่งข่าวให้จอมพล เกบฮาร์ด ฟอน บลือเชอร์ วาลชตัดท์ (Gebhard von Blücher Wahlstadt)* แห่งกองทัพปรัสเซียรับทราบเกี่ยวกับแผนการรบที่เมืองไลพ์ซิก (Leipzig) ซึ่งกำหนดขึ้นในวันที่ ๑๙ ตุลาคม ค.ศ. ๑๘๑๓ ปฏิบัติการครั้งนี้ทำให้เขาได้เลื่อนยศเป็นร้อยโทและได้รับเหรียญกล้าหาญ ต่อมาในเดือนกันยายน ค.ศ. ๑๘๑๔ เซเชนยีเป็นนายทหารคนหนึ่งที่ไปร่วมการประชุมใหญ่แห่งเวียนนา (Congress of Vienna ค.ศ. ๑๘๑๔-๑๘๑๕)* ด้วย และใช้เวลาส่วนใหญ่ในงานราตรีสโมสรและงานเต้นรำที่สนุกสนาน เขามีโอกาสได้ใกล้ชิดกับพี่สะใภ้จนตกหลุมรักเธออย่างถอนตัวไม่ขึ้น แม้ความสัมพันธ์ระหว่างคนทั้งสองจะเป็นช่วงเวลาสั้น ๆ แต่ก็เป็นเรื่องชุบซิบที่อื้อฉาวในสังคม ต่อมาใน ค.ศ. ๑๘๒๐ พี่สะใภ้เสียชีวิตด้วยวัณโรคแต่เซเชนยีมีความสงใจว่าเขามีส่วนรับผิดชอบด้วยและรู้สึกสำนึกผิดซึ่งทำให้เขาเริ่มหันไปหาศาสนาเพื่อเป็นที่พึ่งทางจิตวิญญาณ

 ใน ค.ศ. ๑๘๑๕ เมื่อจักรพรรดินโปเลียนที่ ๑ (Napoleon I ค.ศ. ๑๘๐๔-๑๘๑๕)* เสด็จหนีจากเกาะเอลบา (Elba) กลับมาครองราชบัลลังก์ฝรั่งเศสอีกครั้ง เซเชนยีถูกโอนไปปฏิบัติการรบที่อิตาลีและในยุทธการที่โตเลนตีโน (Battle of Tolentino) ในเดือนเมษายน ค.ศ. ๑๘๑๕ ซึ่งอยู่ในช่วงสมัยร้อยวัน (Hundred Days)* กองทัพออสเตรียใต้การบังคับบัญชาของเขามีชัยชนะต่อกองทัพของพระเจ้ามูรา โชอาคีม (Murat Joachim)* กษัตริย์แห่งเนเปิลส์ที่ทรงสนับสนุนจักรพรรดินโปเลียน หลังสงครามนโปเสียนสั้นสุดลงเซเชนยีได้รับการเสนอชื่อให้เลื่อนยศเป็นพันตรีหลายครั้งแต่จักรพรรดิฟรานซิสที่ ๑ (Francis I ค.ศ. ๑๘๐๔-๑๘๓๕)* ทรงปฏิเสธเพราะทรงเชื่อในคำเพ็ดทูลของข้าราชบริพารที่ใกล้ชิดซึ่งเป็นปฏิปักษ์กับเคานต์เฟเรนซ์ว่าเซเชนยีเป็นคนก้าวร้าวที่ชอบวิพากษ์วิจารณ์กองทัพ ความผิดหวังที่จะมีโอกาสก้าวหน้าในงานอาชีพหลายครั้งมีส่วนทำให้เซเชนยีท้อใจ เขาจึงขอลาพักผ่อนบ่อยครั้งโดยเดินทางท่องเที่ยวในประเทศยุโรปพร้อมกับบารอนมิคโลช เวสเซเลนยี (Miklós Wesselenyi)* เพื่อนสนิท ระหว่าง ค.ศ. ๑๘๑๕-๑๘๒๑ เขาไปประเทศฝรั่งเศสอังกฤษ อิตาลี กรีซ ตุรกีหรือจักรวรรดิออตโตมัน (Ottoman Empire)* และเกาะแถบส่งตะวันออกของทะเลเมดิเตอร์เรเนียน เซเชนยีประทับใจความทันสมัยและความก้าวหน้าทางเศรษฐกิจและสังคมของอังกฤษซึ่งทำให้เขาตระหนักถึงความล้าหลังและด้อยพัฒนาของฮังการีบ้านเกิด ในช่วงการท่องเที่ยวต่างแดนดังกล่าว เซเชนยี มีโอกาสพบปะผู้คนมากหน้าหลายตาและได้สร้างความสัมพันธ์อันดีระหว่างกันไว้ รวมทั้งได้เรียนรู้เกี่ยวกับเรื่องอุตสาหกรรมและการค้าซึ่งเขาจะนำสิ่งที่ได้เรียนรู้ดังกล่าวมาประยุกต์ใช้กับฮังการีในเวลาต่อมา

 ในช่วงที่เซเชนยีอยู่ที่อังกฤษใน ค.ศ. ๑๘๑๕ เขาหลงรักเคาน์เตสเครสเซนซ์ ไซเลิร์น (Crescence Seilern) ภริยาของเคานต์คาโรลี ซีชี (Károly Zichy) แต่เคาน์เตสปฏิเสธความรักของเขาและทำให้เซเชนยีตรอมใจอย่างมาก อย่างไรก็ตาม ใน ค.ศ. ๑๘๓๖ หลังเคานต์คาโรลีเสียชีวิตไปได้ ๒ ปี เคาน์เตสไซเลิร์นก็ยอมแต่งงานกับเซเชนยีซึ่งในเวลานั้นเป็นผู้แทนรัฐสภาฮังการีที่กำลังมีบทบาทสำคัญในการปฏิรูปและพัฒนาประเทศ ทั้งสองมีบุตรด้วยกันรวม ๓ คนเป็นชาย ๒ คนและหญิง ๑ คน แต่บุตรสาวเสียชีวิตหลังจากเกิดได้เพียง ๓ เดือน บุตรชายคนโตในเวลาต่อมาเติบโตเป็นนักธุรกิจที่ประสบความสำเร็จและเดินทางไปมาบ่อยครั้งระหว่างฮังการีกับประเทศยุโรปตะวันออก ส่วนบุตรชายคนสุดท้องไปทำงานที่ตุรกีและได้รับแต่งตั้งจากสุลต่านแห่งออตโตมันให้ดำรงตำแหน่งปาชา (Pasha) หรือเสนาบดี เพราะเขาจัดตั้งหน่วยดับเพลิงขึ้น ทั้งมีส่วนผลักดันการจัดตั้งสมาคมนักดับเพลิงแห่งเปสต์ (Firemen Society of Pest) ขึ้นด้วย

 ใน ค.ศ. ๑๘๒๑ เซเชนยีในวัย ๓๐ ปีลาออกจากกองทัพออสเตรียและเดินทางกลับไปฮังการี ความสนใจในการเมืองและปัญหาสังคมทำให้เขาได้รับเลือกเป็นผู้แทนสภาสูงในรัฐสภาฮังการีใน ค.ศ. ๑๘๒๕ ในปีเดียวกันเซเชนยีเดินทางไปฝรั่งเศสเพื่อร่วมงานพระราชพิธีบรมราชาภิเษกพระเจ้าชาร์ลที่ ๑๐ (Charles X)* แห่งราชวงศ์บูร์บง (Bourbon)* เขาได้เห็นระบบการเดินเรือในคลองมีดี (Midi) และนำความรู้ที่ได้มาปรับใช้ในการควบคุมเส้นทางเดินเรือในแม่นํ้าดานูบและแม่น้ำไทส์ (Teiss) เซเชนยียังสร้างชื่อเสียงให้ตนเองเป็นที่รู้จักและยอมรับในฐานะนักปฏิรูปหัวก้าวหน้าด้วยการบริจาคเงินรายได้ประจำปีจากที่ดินส่วนตัวจำนวน ๖๐,๐๐๐ ฟลอริน (florins) เพื่อสนับสนุนการจัดตั้งบัณฑิตยสถานแห่งฮังการี (Hungarian National Academy of Sciences) ขึ้นเพื่อส่งเสริมการศึกษาคันคว้าและวิจัยด้านภาษาและวัฒนธรรม แบบอย่างการเสียสละของเขาทำให้มีขุนนางบริจาคเงินสมทบเพิ่มอีก ๓ คน เป็นเงินกว่า ๕๘,๐๐๐ ฟลอริน บัณฑิตยสถานแห่งฮังการีสร้างเสร็จในต้น ค.ศ. ๑๘๓๑ และเปิดดำเนินการในเดือนกุมภาพันธ์ปีเดียวกัน เซเชนยีดำรงตำแหน่งเป็นอุปนายก

 ระหว่าง ค.ศ. ๑๘๒๖-๑๘๓๐ เซเชนยีเสนอความคิดและโครงการพัฒนาสังคมที่ก้าวหน้าหลายโครงการจนเขาได้ชื่อว่าเป็นนักปฏิรูปที่มีเจตจำนงแน่วแน่ซึ่งหมกมุ่นกับเรื่องความก้าวหน้า เขาจัดตั้งสโมสรผู้ผสมพันธุ์ม้า (Horse Breeder Society) แห่งแรกขึ้นใน ค.ศ. ๑๘๒๕ และผลักดันการสร้างสนามม้าแข่งแห่งชาติขึ้นโดยมีวัตถุประสงค์จะให้สนามม้าเป็นแหล่งพบปะสังสรรค์กันของพวกขุนนางและนักธุรกิจนายทุนที่มั่งคั่ง ในเดือนมิถุนายน ค.ศ. ๑๘๒๗ เซเชนยีได้จัดการแข่งม้าตามแบบอังกฤษขึ้นเป็นครั้งแรกที่เมืองเปสต์และประสบความสำเร็จอย่างมาก ในเดือนมิถุนายนปีต่อมาเขาก็จัดพิมพ์หนังสือ Lovakrul (On Horses) เผยแพร่ซึ่งนับเป็นงานเขียนมาตรฐานว่าด้วยม้าแข่งและการแข่งม้าเล่มแรกที่เขียนโดยชาวฮังการี ใน ค.ศ. ๑๘๒๗ เซเชนยียังสร้างคาสิโนขึ้นโดยบริหารควบคุมด้วยตนเองซึ่งก็ประสบความสำเร็จทั้งเป็นสโมสรบันเทิงที่ชนชั้นสูงนิยมนัดพบและพูดคุยเรื่องปัญหาการเมืองและสังคมตามโอกาสและเงื่อนไขที่เหมาะสม คาสิโนของเซเชนยีจึงนำร่องให้รัฐบาลฮังการีในเวลาต่อมาสร้างคาสิโนแห่งชาติขึ้น ใน ค.ศ. ๑๘๓๐ เซเชนยียังริเริ่มนำเรือกลไฟมาใช้ในการบริการขนส่งในแม่นํ้าดานูบและเปิดเส้นทางเดินเรือระหว่างเมืองเปสต์กับกรุงคอนสแตนติโนเปิล (Constantinople) ความสำเร็จของเส้นทางเดินเรือดังกล่าวนำไปสู่โครงการเปิดเส้นทางการค้าในแม่นํ้าดานูบระหว่างเมืองบูดา (Buda) กับทะเลดำ ในกลาง ค.ศ. ๑๘๓๓ มีการจัดตั้งคณะกรรมาธิการเดินเรือดานูบ (Danube Navigation Committee) ขึ้นเพื่อวางโครงการเดินเรือไปสู่ทะเลดำให้บรรลุวัตถุประสงค์ภายใน ๑๐ ปี

 ใน ค.ศ. ๑๘๓๐ เซเชนยีซึ่งต้องการให้แนวความคิดการปฏิรูปและการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของเขาเป็นที่รับรู้กันอย่างกว้างขวางได้จัดพิมพ์หนังสือชุดการเมืองว่าด้วยการปฏิรูปเรื่อง Hitel (Credit) เผยแพร่ และตามด้วยเรื่อง Világ (Light) ใน ค.ศ. ๑๘๓๑ และ Stádium (stadium) ใน ค.ศ. ๑๘๓๓ เนื้อหาสำคัญของหนังสือชุดนี้คือการเรียกร้องให้ขุนนางและชนชั้นสูงยกเลิกอภิสิทธิ์ต่าง ๆ ตามระบบฟิวดัลโดยเฉพาะอภิสิทธิ์ทางด้านภาษี และทำหน้าที่เป็นแนวหน้าในการเปลี่ยนแปลงประเทศไปสู่ความทันสมัย เขาเรียกร้องให้มีการปลดปล่อยทาสติดที่ดินและการปฏิรูปที่ดินรวมทั้งการลงทุนพัฒนาที่ดินให้สอดคล้องกับการพัฒนาทางเศรษฐกิจแม้ขุนนางชั้นสูงจะต่อด้านแนวความคิดดังกล่าวอย่างมากแต่ขุนนางระดับล่างส่วนใหญ่สนับสนุนแนวความคิดของเขาและร่วมรณรงค์ให้มีการปฏิรูปเพื่อพัฒนาประเทศให้ทันสมัย อย่างไรก็ตาม เซเชนยีก็มีความเห็นว่าการปฏิรูปใด ๆ ต้องได้รับความเห็นชอบจากจักรวรรดิออสเตรียก่อนและต้องดำเนินการอย่างค่อยเป็นค่อยไป แนวความคิดปฏิรูปของเซเชนยีจึงชัดแย้งกับความคิดของลายอช คอชุท นักเขียนและผู้แทนของคหบดีในสภาล่างซึ่งต้องการให้ฮังการีแยกตัวออกจากการปกครองของออสเตรียและดำเนินการปฏิรูปอย่างรวดเร็วในทุกด้าน คนทั้งสองมักขัดแย้งในทางการเมือง และเซเชนยีเห็นว่าคอชุทเป็นนักปลุกระดมทางการเมืองมากกว่าเป็นนักปฏิรูปที่มีเหตุผล

 เซเชนยีให้ความสำคัญกับการพัฒนาการคมนาคมขนส่งเพราะเห็นว่าเป็นปัจจัยหลักของการเติบโตทางเศรษฐกิจในกลางทศวรรษ ๑๘๓๐ เขาผลักดันโครงการเดินเรือในแม่นํ้าดานูบตอนล่างซึ่งได้รับการสนับสนุนเงินทุนจากราชสำนักเวียนนา และได้รับมอบหมายให้ควบคุมการก่อสร้างเส้นทางเดินเรือในแม่น้ำดานูบตอนล่างตลอดจนการสร้างประตูนํ้าเพื่อเปิดปิดให้เรือกลไฟแล่นผ่าน เขายังริเริ่มการสร้างสะพานข้ามแม่นํ้าดานูบแห่งแรกขึ้นเพื่อเชื่อมเมืองบูดากับเมืองเปสต์และสามารถหาผู้ร่วมทุนจัดตั้งบริษัทร่วมทุนสะพานแขวนขึ้นใน ค.ศ. ๑๘๓๗ เพื่อสร้างสะพานเชื่อมเมืองบูดากับเมืองเปสต์ระหว่างฝั่งตะวันตกกับส่งตะวันออกเข้าด้วยกัน สะพานแขวนนี้เริ่มก่อสร้างใน ค.ศ. ๑๘๔๐ และสร้างเสร็จและเปิดใช้ใน ค.ศ. ๑๘๔๙ ซึ่งในขณะนั้นได้ชื่อว่าเป็นสิ่งก่อสร้างที่มหัศจรรย์ชิ้นหนึ่งของโลก และเป็นสัญลักษณ์ของความทันสมัยและความก้าวหน้าตลอดจนการเชื่อมต่อส่งตะวันออกกับฝั่งตะวันตกของแม่นํ้าดานูบให้เป็นหนึ่งเดียวกัน [ต่อมาใน ค.ศ. ๑๘๙๘ มีการตั้งชื่อสะพานอย่างเป็นทางการว่าสะพานแขวนเซเชนยี (Sźechenyi Chain Bridge)] ความสำเร็จของการสร้างสะพานทำให้เซเชนยีมีความคิดที่จะพัฒนาทั้งเมืองบูดาและเมืองเปสต์ให้เป็นศูนย์กลางทางการเมือง เศรษฐกิจ และวัฒนธรรมของประเทศ เขาจึงเป็นคนแรกที่เสนอแนะให้มีการรวมเมืองบูดาและเมืองเปสต์เข้าด้วยกันโดยเรียกชื่อว่าบูดาเปสต์ ทั้งยกสถานภาพของเมืองให้เป็นเมืองหลวงของประเทศ เซเชนยีพยายามปรับปรุงและพัฒนาทั้งเมืองบูดาและเมืองเปสต์ให้ทันสมัยและงดงาม อย่างไรก็ตาม การรวมเมืองบูดาและเมืองเปสต์เข้าด้วยกันบรรลุผลหลังเซเชนยีถึงแก่อสัญกรรมไปแล้ว หลังออสเตรียพ่ายแพ้แก่ปรัสเซียในสงครามเจ็ดสัปดาห์ (Seven Weeks’ War)* ใน ค.ศ. ๑๘๖๖ ออสเตรียได้ทำความตกลงประนีประนอมกับฮังการีสถาปนาระบอบราชาธิปไตยคู่ (Dual Monarchy)* ขึ้นใน ค.ศ. ๑๘๖๗ เรียกว่า จักรวรรดิออสเตรีย-ฮังการี (Austria-Hungary)* ดินแดนทั้ง ๒ ส่วนต่างมีฐานะเป็นประเทศเอกราชที่อยู่ใต้การปกครองของประมุของค์เดียวกันและใช้ธงชาติร่วมกัน จักรพรรดิแห่งออสเตรียทรงดำรงพระอิสริยยศเป็นกษัตริย์แห่งฮังการี เมืองบูดาและเปสต์จึงรวมเข้าด้วยกันเรียกชื่อว่ากรุงบูดาเปสต์ และเป็นเมืองหลวงของราชอาณาจักรฮังการีใน ค.ศ. ๑๘๖๗

 ใน ค.ศ. ๑๘๔๖ เซเชนยีได้รับแต่งตั้งเป็นประธานคณะกรรมาธิการการคมนาคมขนส่งแห่งชาติ เขาผลักดันการสร้างและพัฒนาเส้นทางคมนาคมขนส่งและเส้นทางรถไฟทั่วประเทศเพื่อเป็นเครือข่ายเข้าสู่ศูนย์กลาง ขณะเดียวกันเขาก็เริ่มขุดคลองระหว่างแม่นํ้าดานูบกับแม่นํ้าทิซอ (Tisza) เพื่อป้องกันนํ้าท่วมในบริเวณแม่นํ้าทิซอ คลองดังกล่าวขุดเสร็จใน ค.ศ. ๑๘๔๘ และภายในเวลาอันสั้นก็เป็นเส้นทางเดินเรือที่สำคัญ นอกจากนี้ เซเชนยียังมีบทบาทสำคัญในการเปิดเส้นทางเดินเรือในทะเลสาบบอลอโตน (Balaton) เรือกลไฟลำแรกแล่นเป็นปฐมฤกษ์ในทะเลสาบบอลอโตนเมื่อวันที่ ๒๑ กันยายน ค.ศ. ๑๘๔๖ ซึ่งเป็นวันครบรอบวันเกิด ๕๕ ปีของเซเชนยี

 เมื่อเกิดการปฏิวัติฝรั่งเศส ค.ศ. ๑๘๔๘ (French Revolution of 1848)* ในเดือนกุมภาพันธ์ ซึ่งทำให้พระเจ้าหลุยส์ ฟิลิป (Louis Philippe)* แห่งราชวงศ์ออร์เลออง (Orleán) หมดอำนาจลง อิทธิพลของการปฏิวัติฝรั่งเศสได้แพร่กระจายไปทั่วยุโรปจนเกิดการปฏิวัติ ค.ศ. ๑๘๔๘ คอชุทและเฟอเรนซ์ เดอัก (Ference Déak)* ผู้แทนของจังหวัดซาลา (Zala) ในรัฐสภาฮังการีจึงเห็นเป็นโอกาสโน้มน้าวให้รัฐสภาฮังการีประกาศใช้รัฐธรรมนูญฉบับใหม่ในเดือนมีนาคม ค.ศ. ๑๘๔๘ ที่ให้สิทธิเสรีภาพแก่ประชาชนและมีอำนาจในการปกครองตนเอง มีการจัดตั้งรัฐบาลฮังการีขึ้นใหม่โดยเคานต์ลายอช บาตทยานี (Lajos Batthyány) เป็นอัครมหาเสนาบดี คอชุทเป็นเสนาบดีว่าการกระทรวงการคลัง และเซเชนยีเป็นเสนาบดีกระทรวงคมนาคม เซเชนยีเสนอโครงการปฏิรูประบบการคมนาคมขนส่งในรายงานเรื่อง Javaslata magyar közlekedési üqy rendezésérül (Suggestion on Regulation of the Hungarian Transportation) ว่าด้วยการวางระบบเครือข่ายเส้นทางรถไฟและถนน แต่โครงการของเขาก็ไม่อาจดำเนินการได้เพราะขาดแคลนเงินทุนและประเทศติดพันในสถานการณ์สงคราม

 เซเชนยีไม่เห็นด้วยกับคอชุทในการโน้มน้าวรัฐสภาฮังการีไม่ให้ส่งกำลังทหารไปช่วยออสเตรียปราบปรามพวกชาตินิยมอิตาลีที่ก่อการเคลื่อนไหวต่อต้านออสเตรียในคาบสมุทรอิตาลีตอนเหนือ เขาต้องการให้ร่วมมือกับออสเตรียเพื่อหวังความช่วยเหลือในแผนปฏิรูปด้านคมนาคมขนส่ง แต่รัฐสภาฮังการีกลับสนับสนุนคอชุทซึ่งทำให้เซเชนยีเกิดความเครียดเพราะเกรงว่าจะทำให้ความสัมพันธ์ระหว่างออสเตรียกับฮังการีเลวร้ายลงเพราะก่อนหน้านั้นออสเตรียได้ปฏิเสธร่างกฎหมายเดือนเมษายนว่าด้วยแนวทางการปฏิรูปทางการเมืองและแนวทางการปกครองตนเองของฮังการี ต่อมา เมื่อชนกลุ่มน้อยในฮังการีโดยเฉพาะพวกโครแอตในโครเอเชียเคลื่อนไหวแยกตัวจากฮังการี ออสเตรียสนับสนุนโครเอเชียในการต่อต้านฮังการี สงครามระหว่างฮังการีกับโครเอเชียที่เกิดขึ้นในเดือนกันยายน ค.ศ. ๑๘๔๘ ทำให้เซเชนยีกลัดกลุ้มมากยิ่งขึ้นและตัดสินใจลาออกจากตำแหน่งเมื่อวันที่ ๕ กันยายน ต่อมา เมื่อจักรพรรดิเฟอร์ดินานด์ที่ ๑ (Ferdinand I ค.ศ. ๑๘๓๕-๑๘๔๘) แห่งออสเตรียได้ออกแถลงการณ์เมื่อวันที่ ๓ ตุลาคม ค.ศ. ๑๘๔๘ ยุบรัฐสภาฮังการีและประกาศใช้กฎอัยการศึกกับฮังการี ฮังการีประกาศแยกตัวจากออสเตรีย และสงครามระหว่างออสเตรียกับฮังการีจึงเริ่มขึ้นและทั้ง ๒ ฝ่ายต่างผลัดกันแพ้และชนะตลอดช่วง ค.ศ. ๑๘๔๘

 ในปลายเดือนธันวาคม ค.ศ. ๑๘๔๘ จักรพรรดิฟรานซิส โจเซฟ (Francis Joseph)* เสด็จขึ้นครองราชย์และทรงขอความร่วมมือจากซาร์นิโคลัสที่ ๑ (Nicholas I ค.ศ. ๑๘๒๕-๑๘๕๕)* แห่งจักรวรรดิรัสเซียให้ส่งกองทัพมาช่วยปราบปรามฮังการี การต่อสู้เพื่อเอกราชของฮังการีจึงล้มเหลวและในปลาย ค.ศ. ๑๘๔๙ ฮังการีกลับรวมเข้าเป็นส่วนหนึ่งของจักรวรรดิออสเตรียดังเดิม ในช่วงที่ความขัดแย้งระหว่างฮังการีกับออสเตรียทวีความรุนแรงมากขึ้นนั้น เซเชนยีซึ่งติดตามสถานการณ์ทางการเมืองมาโดยตลอดเกิดความเครียดทางอารมณ์จนเสียสติ เขาถูกส่งไปรักษาตัว ณ สถานพยาบาลฟื้นฟูโรคจิตที่เมืองเดอบลิง ใกล้กรุงเวียนนา อย่างไรก็ตาม การดูแลเอาใจใส่อย่างดีจากภริยาและสถานพยาบาลทำให้เซเชนยีหายปวยและหันกลับมาสนใจปัญหาทางการเมืองและสังคมอีกครั้งหนึ่ง

 หลังความพ่ายแพ้ในการต่อสู้เพื่อเอกราชของฮังการีออสเตรียกลับมาปกครองฮังการีอย่างกดขี่และเข้มงวดอีกครั้งหนึ่งเป็นเวลาร่วม ๒ ทศวรรษ เซเชนยีซึ่งมีสุขภาพจิตดีขึ้นจึงเปลี่ยนความคิดและหันมาต่อต้านออสเตรียด้วยการเขียนงานวรรณกรรมเสียดสีการปกครองของออสเตรียรวมทั้งเสนอความคิดปฏิรูปเกี่ยวกับการศึกษา เยาวชน ศาสตร์ การเขียนและอื่น ๆ นับแต่กลางทศวรรษ ๑๘๕๐ เป็นต้นมา เขาสร้างสายสัมพันธ์กับนักการเมืองและปัญญาชนชาตินิยมเคลื่อนไหวต่อต้านออสเตรียทางความคิดด้วยงานเขียนหลากหลายรูปแบบ งานเขียนที่โดดเด่นขึ้นสำคัญคือ จุลสาร Ein Blick (One Look) ว่าด้วยปัญหาการเมืองของฮังการีและการวิพากษ์โจมตีระบบการปกครองออสเตรียทั้งเสียดสีจักรพรรดิฟรานซิส โจเซฟว่าเป็นผู้ปกครองที่อวดดี หยิ่งยโส โง่ ใจหิน และกระหายเลือด จุลสารเรื่องนี้จัดพิมพ์ที่กรุงลอนดอนใน ค.ศ. ๑๘๕๙ โดยไม่มีชื่อผู้แต่ง เมื่อมีการนำมาเผยแพรในฮังการี ผู้อ่านก็รู้ว่าเป็นผลงานของเซเชนยี ในเดือนมีนาคม ค.ศ. ๑๘๖๐ ตำรวจได้ตรวจค้นบ้านของเขาและพบร่างต้นฉบับจุลสารซึ่งเป็นหลักฐานผูกมัดเซเชนยีว่าเป็นผู้ประพันธ์ เขาถูกกล่าวหาว่าเป็นกบฏและจะถูกส่งไปกักขังที่โรงพยาบาลโรคจิต เซเชนยีตระหนักดีว่าเขาไม่เข้มแข็งพอที่จะทนสภาวะการกักขังที่โรงพยาบาลได้ซึ่งอาจทำให้เขาเสียชีวิตได้ทุกขณะ จึงตัดสินใจกระทำอัตวินิบาตกรรมด้วยการยิงตัวตายในคืนวันที่ ๘ เมษายน ค.ศ. ๑๘๖๐ ขณะอายุ ๖๙ ปี

 ในวันพิธีศพเซเชนยี ประชาชนชาวฮังการีทั่วสารทิศซึ่งรวมทั้งนักการเมืองที่มีชื่อเสียงและปัญญาชนคนสำคัญในด้านต่าง ๆ ประมาณ ๑๐๐,๐๐๐ คน เข้าร่วมพิธีเพื่อแสดงความเคารพและไว้อาลัย บัณฑิตยสถานแห่งฮังการี สมาคมและหน่วยงานด้านวัฒนธรรมต่าง ๆ ปิดทำการเพื่อแสดงความอาลัยด้วย คอชุทได้เขียนสดุดียกย่องว่าเซเชนยีเป็นรัฐบุรุษที่ยิ่งใหญ่ของฮังการีและเป็นชาวฮังการีที่ชื่อสัตย์รักชาติมากที่สุด ต่อมา ใน ค.ศ. ๑๘๘๐ หลังจากฮังการีมีอำนาจปกครองตนเองตามระบอบราชาธิปใตยคู่ มีการสร้างอนุสาวรีย์รูปเหมือนของเซเชนยีประดิษฐานไว้ที่กรุงบูดาเปสต์และที่จัตุรัสใจกลางเมืองโชโพรน (Soporn) ซึ่งเป็นเมืองใต้ปกครองของออสเตรีย แต่ใน ค.ศ. ๑๙๒๑ ประชาชนเมืองโชโพรนลงประชามติขอรวมกับฮังการี เมืองโชโพรนจึงได้ชื่อว่าเป็นเมืองที่จงรักภักดีที่สุดของฮังการีเฉกเช่นเซเชนยี ระหว่าง ค.ศ.๑๘๘๔-๑๘๙๖ บัณฑิตยสถานแห่งฮังการีได้รวบรวมและคัดสรรผลงานทางด้านการเมืองและเศรษฐกิจของเซเชนยีพิมพ์เผยแพร่เป็นหนังสือชุดรวม ๙ เล่ม หนังสือชุดนี้ต่อมามีการแปลเป็นภาษาเยอรมันด้วย

 นับแต่ ค.ศ. ๑๙๐๐ เป็นต้นมา รัฐบาลฮังการีนำรูปเซเชนยีมาพิมพ์ไว้ในธนบัตรราคา ๕,๐๐๐ ฟลอริน และหลัง ค.ศ. ๑๙๙๙ ก็พิมพ์ในธนบัตรที่ราคาตํ่ากว่า ๕,๐๐๐ ฟลอรินด้วย นอกจากนี้ มีการปรับปรุงคฤหาสน์เซเชนยี ณ เมือง นอจเซงค์ ซึ่งมีการจัดแสดงนิทรรศการถาวรเกี่ยวกับชีวิตและงานของเซเชนยี อุตสาหกรรมของฮังการีในสมัยเซเชนยีจนถึงปัจจุบัน และประวัติเงินตราของฮังการี รวมทั้งมีการจัดนิทรรศการร่วมสมัยหมุนเวียนเป็นระยะ ๆ ใน ค.ศ. ๒๐๐๐ รัฐบาลฮังการีจัดตั้งมหาวิทยาลัยที่เน้นการผลิตวิศวกรด้านการขนส่งและโทรคมนาคมโดยตั้งชื่อว่า “มหาวิทยาลัยอิชต์วานเซเชนยี” มหาวิทยาลัยนี่ตั้งอยู่ที่เมืองเจอร์ (Győr) ทางตะวันตกเฉียงเหนือชองฮังการีและเป็นเมืองสำคัญด้านวัฒนธรรมและอุตสาหกรรม เป็นมหาวิทยาลัยที่มีชื่อเสียงด้านวิศวกรรมไฟฟ้าและเครื่องกล ทั้งเป็นหุ้นส่วนกับบริษัทเยอรมันที่ผลิตรถยนต์ออดี (Audi) ทุกปีมหาวิทยาลัยจะจัดสัปดาห์เล่นกีฬาประจำปีที่เรียกว่า “สัปดาห์เซเชนยี” โดยบุคคลที่มีชื่อเสียงของประเทศจะได้รับเชิญให้มาร่วมเล่นกีฬากับนักศึกษาและบุคคลทั่วไป แต่การเล่นที่สนุกสนานและมีสีสั้นมากกว่ากีฬาอื่นๆ คือ การแข่งขันแย่งชิงที่จอดรถหน้ามหาวิทยาลัย เป็นการแข่งขันที่เรียกว่า “การแข่งขันเซเชนยี” (Sźechenyi race) ซึ่งมีผู้เข้าร่วมแข่งขันเป็นจำนวนมาก.



คำตั้ง
Sźechenyi, Istvan, Count
คำเทียบ
เคานต์อิชต์วาน เซเชนยี
คำสำคัญ
- การปฏิวัติ ค.ศ. ๑๘๔๘
- การปฏิวัติฝรั่งเศส ค.ศ. ๑๘๔๘
- การประชุมใหญ่แห่งเวียนนา
- คอชุท, ลายอช
- โครเอเชีย
- เซเชนยี, เคานต์เฟอเรนซ์
- เซเชนยี, เคานต์อิชต์วาน
- เดอัก, เฟอเรนซ์
- ทาสติดที่ดิน
- บลือเชอร์ วาลชตัดท์, จอมพล เกบฮาร์ด ฟอน
- บาตทยานี, เคานต์ลายอช
- แผนการรบที่เมืองไลพ์ซิก
- เฟสเตติช, เคาน์เตสจูเลีย
- ยุทธการที่โตเลนตีโน
- ยุทธการที่เมืองราบ
- ระบอบราชาธิปไตยคู่
- เวสเซเลนยี, บารอนมิคโลช
- สงครามเจ็ดสัปดาห์
- สงครามนโปเลียน
- สมัยร้อยวัน
- ออสเตรีย-ฮังการี
ช่วงเวลาระบุเป็นคริสต์ศักราช
1791-1860
ช่วงเวลาระบุเป็นพุทธศักราช
พ.ศ. ๒๓๓๔-๒๔๐๓
มัลติมีเดียประกอบ
-
ผู้เขียนคำอธิบาย
สัญชัย สุวังบุตร
บรรณานุกรมคำตั้ง
แหล่งอ้างอิง
-